Niwat Chatawittayakul คอลัมนิส และนักธุรกิจ ปัจจุบันทำธุรกิจด้านวางแผนกลยุทธ์การตลาดและโฆษณาดิจิทัล อีกฝั่งสวมหมวกบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีโดย มุ่งความสนใจไปที่ BigData Blockchain และ Digital Transformation

เบื้องหลังการมายุ่งของ กสทช. ‘ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น’เพราะดังถึงว้าวุ่น

4 sec read

ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งใหม่ของเมืองไทยอีกครั้ง เรื่องกระแสการแบนซีรีส์ดัง ‘ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น’ ซีรีส์ดังทางช่อง GMM One ที่ฉายบนช่องทางเคเบิล ที่กำลังโดนตรวจสอบอย่างจริงจัง จาก กสทช. ที่ได้ฉายาหน่วยงานโลกสวย สาเหตุแบนระบุ ขัดต่อมาตรา 37 แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 เรื่องความไม่เหมาะสมในด้านคุณธรรมและศีลธรรม แหม่!! ผมละเหนื่อยใจจริงๆ แต่ครั้งนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกที่เนื้อหารายการซีรีส์ในช่องทางเคเบิลกลายเป็นกระแสดังไปทั่วบ้านทั่วเมืองขนาดนี้ ฮอร์โมนถือเป็นสถิติใหม่เรื่องกระแสการตอบรับจากการรับชมผ่านทางเคเบิลดาวเทียม ชนะเนื้อหาแม่เหล็กทางช่อง GMM One อีกเรื่องคือ “เป็นต่อขั้นเทพ” ที่ออกอากาศทางช่อง GMM One เหมือนกันแต่กระแสไม่ดีเท่าเมื่อคราวอยู่ช่อง 3 แต่ ‘ฮอร์โมน วัยว่าวุ่น’ ผลงานจากนาดาวบางกอก และ GTH กลับกระตอบรับดีกว่าเสมือนอยู่บนช่องฟรีทีวี เล่นเอาวัยรุ่น รวมทั้งผมเองที่เป็นแฟนซีรีส์เรื่องนี้บ่นอุบว่า นี่มันเรื่องจริงในสังคม นำความจริงมาตีแผ่ แต่กลับไม่ได้รับการเปิดรับจากผู้ใหญ่ในสังคมทั้งที่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ อยู่แล้วในสังคม ซึ่งในเรื่องมีการแฝงการสรุปและผลที่ได้รับจากการกระทำที่ผิดพลาดของวัยรุ่นที่เป็นผลจากการกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องนอกเหนือการดูแลจากสายตาผู้ใหญ่

รูปรวมเตรียมถ่ายโปสเตอร์

ทำใมกสทช. ซึ่งไม่มีหน้าที่ในการแบนด์เนื้อหาถึงเข้ามายุ่งทั้งที่จริงแล้วหน้าที่โดยตรงในการแบนด์เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมเป็นหน้าที่ของ กบว. ไม่ใช่กสทช. ที่ดูแลเรื่องใบอนุญาตในการกระจายเสียง ดูจะผิดวิสัยไปหน่อยนะครับว่ามั้ย จนทำให้ผมเข้าใจว่าน่าจะออกมาเพื่อเอาหน้ามากกว่า (ความคิดเห็นส่วนตัว) จากการสอบถามกับทางผู้ใหญ่หลังจากการมีการชี้แจงเนื้อหาและพูดคุยกับทาง กสทช. ระบุฉากบางช่วงบางตอนของเรื่องที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม อาทิเช่นฉาก นักเรียนมีอะไรกันในโรงเรียน ฉากวัยรุ่นที่เข้าไปในคลินิกทำแท้ง ฉากวัยรุ่นไปซื้อที่ตรวจครรภ์และยาคุม ซึ่งฉากเหล่านี้ในเรื่องล้วนมีบทสรุปทิ้งท้ายไว้และตีแผ่ทำให้ผู้ใหญ่ได้เปิดหูเปิดตารับรู้ชีวิตวัยรุ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงที่ผู้ใหญ่ไม่รู้

ฮอร์โมนมีทั้งหมด 13 ตอน สำหรับซีรีส์แรกนี้นะครับ ซึ่งจากเสาร์ที่ผ่านมาก็ผ่าน Episode ที่ 10 ไปแล้ว และการดำเนินการระงับการถ่ายทอดไม่น่าจะมีผลเพราะถ้าโดนแบนด์จริงคำถามสังคมคงจ่อไปทางกสทช. อีกมาก น่าจะกลายเป็นประเด็นระดับประเทศเลยล่ะครับ ตอนนี้ กบว. คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ในอีกนามคือ กกช. ยังไมมีทีท่าอะไร เพราะฉะนั้นจากที่ได้พูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องยังไงก็ได้ชมจนจบซีรีส์น่าจะแน่นอนนะครับ แต่ต้องรอดูการเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกรอบต้นเดือนสิงหาคม ส่วนกรณีน้องดารานำออกมายอมรับเรื่องภาพที่กระจายไปว่อนโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก กรณีนี้ทางซีรีส์ก็จะยังไม่มีการแบนด์น้องในหนังเช่นกันกรณีได้ฉายครบ 13 ตอนก็ยังมีฉากที่มีน้องอยู่

hormones

ความดังของฮอร์โมนทำให้เห็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งครับ ที่เริ่มจะมีในไทยไม่นานมานี้ซึ่งสำหรับคนในวงการโทรทัศน์กังวลในสิ่งที่เกิดขึ้นกันดีก็คือ การเปลี่ยนแปลงช่องทางการรับสื่อของคนสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปสิ้นเชิงกรณี “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” ซึ่งฉายทางช่องเคเบิล GMM One ภายใต้การดุแลของแกรมมี่กลับสามารถเป็นที่นิยมเป็นกระแสได้ไม่แพ้ละครดังทางช่องฟรีทีวี Social Network เป็นสิ่งที่ทำให้การดูทีวีคนสมัยใหม่เปลี่ยนไป ผมเองไม่เคยว่างดูทีวีในเวลาที่ซีรีส์นี้ฉายทางโทรทัศน์เลยซักครั้งเดียวแต่สามารถชมจนจบได้ทาง ช่อง YouTube ซึ่งก็อีกเช่นกันเรื่องนี้เป็นซีรีส์ไทยน่าจะเป็นเรื่องแรกที่มียอดคนดูบน YouTube สูงสุดในประเทศไทย

ยกตัวอย่างตอนแรกของ ฮอร์โมน ตอน เทสโทสเทอโรน (Testosterone) ฮอร์โมนเพศชาย มีผู้ชมสูงถึง 8.5 ล้านครั้งแล้วครับ คาดว่าทะลุ 10 ล้านแน่นอน ข่าวแว่วๆ มีคนติดต่อขอซื้อซีรีส์นี้ไปฉายในต่างประเทศซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีมากกว่า ปรากฏการณ์นี้ทำให้ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ต้องกลับมาคิดให้มากขึ้นแล้วล่ะครับว่า คนสมัยนี้ไม่ได้ว่างดูทีวี แต่ถ้าเนื้อหาดีเขาจะหามาดู
…………………………………
(หมายเหตุ เบื้องหลังการมายุ่งของ กสทช. ‘ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น’เพราะดังถึงว้าวุ่น : คอลัมน์ ดิจิตอลเลนส์ โดย… นิวัฒน์ ชาตะวิทยากูล)