Niwat Chatawittayakul คอลัมนิส และนักธุรกิจ ปัจจุบันทำธุรกิจด้านวางแผนกลยุทธ์การตลาดและโฆษณาดิจิทัล อีกฝั่งสวมหมวกบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีโดย มุ่งความสนใจไปที่ BigData Blockchain และ Digital Transformation

Facebook ยาแก้เหงาของคนยุคใหม่ 3 เวลาหลังอาหารและก่อนนอน

4 sec read

มีโอกาสได้เดินทางมาพักผ่อน และมาทำงานที่กระท่อมเต่ารีสอร์ท ที่เขาค้อ เพชรบูรณ์ กับคณะสื่ออีกหลายๆ ที่ ยังโชคดีว่าที่นี่ยังมี 3จี ให้ผมได้ส่งบทความฉบับนี้ได้ ไม่งั้นต้องไปหากันให้วุ่น ปกติถึงแม้จะเดินทางมาพักผ่อนในสถานที่ที่น่าตื่นเต้นแค่ไหนก็ตาม ยังไม่วายหลายๆ คนก็ยังก้มหน้าก้มตาอยู่กับมือถือเกือบร้อยทั้งร้อยก็เล่น Facebook หรือไม่ก็ Chat ผ่าน Line หรือ WeChat ติดต่อกับเพื่อน(คนอื่น)ตลอดเวลา

ในทริปครั้งนี้ ที่ผมมา พวกเรามีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองการใช้ชีวิตแบบใหม่ ที่มองธุรกิจในอีกมุม มุมที่ไม่ได้คิดถึงแต่ผลลัพธ์ที่หมายถึงรายได้หรือกำไร แต่มองธุรกิจในมุมของการให้(ทาน) ก็นำมาสู่ความสำเร็จได้เช่นกัน ยกตัวอย่างความสำเร็จของ Facebook ที่ทำให้คนยุคนี้ติดกันอย่างงอมแงม หลายคนเข้าขั้นเสพติด ว่าจริงๆ แล้วไม่ว่าด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม Facebook เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีคนใช้มากกว่าพันล้านคนทั่วโลกนั้น สาเหตุของความฮิต คำตอบลึกๆ ในหัวใจของผู้ใช้งาน ก็คือ มันเป็นยาที่รักษาโรคความเหงาของคนยุคใหม่ ที่ Mark Zuckerberg เป็นผู้ผลิตคิดค้นยาตัวนี้มาให้ โดยไม่คิดตังค์ (จริงมั้ย)

ประเทศที่มั่งคั่งที่สุดอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งมากถึง 40% ของประชากรทั้งหมดใช้งาน Facebook กันเป็นประจำ มีรายงานหลายชิ้นที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้งาน Social Network ของชาวอเมริกัน มีสิ่งหนึ่งที่น่าตกใจและชี้ไปทางเดียวกันก็คือ ผู้ใช้ Facebook จำนวนมากนี้ มักจะเป็นโรคเหงาและซึมเศร้าร่วมด้วยโดยเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่ จนกลายเป็นประเด็นว่า Facebook ทำให้เราเหงาขึ้นจริงรึเปล่า คำตอบมีทั้งใช่และไม่ใช่ครับ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ความเหงามีองค์ประกอบเรื่องอื่นๆ อีกมากมายประกอบกัน แต่สาเหตุที่ส่งผลชัดเจนส่วนหนึ่งมาจากวิถีชีวิตคนเมืองที่เร่งรีบและโดดเดี่ยวในปัจจุบัน ถ้าคิดว่าเราก็เป็นอย่างนั้นก็อย่าได้วางใจ มีวิธีสังเกตโรคซึมเศร้าง่ายๆ โดยดูจากใช้งาน Social Network ด้วยการสังเกตเวลาที่ใช้ว่าใช้เวลากับมันนานแค่ไหน ถ้ายิ่งใช้เวลาบน Social Network เยอะมากขึ้นเท่าไหร่ก็อาจแสดงว่าความเหงาของคุณได้เพิ่มมากขึ้นแล้ว (งานวิจัยระบุว่า คนเหงามีแนวโน้มที่จะใช้งาน Social Media มากขึ้นตามลำดับ)

ถ้าคุณอ่านบทความนี้อยู่ แล้วยังเห็นเพื่อนข้างๆ ยังก้มหน้าก้มตาอยู่กับโทรศัพท์ ยื่นคมชัดลึกเล่มนี้ต่อให้เพื่อน จะได้ไม่ต้องกินยาแก้เหงามากจนเกินพอดี เดี๋ยวจะดื้อยาจนรักษาไม่หาย เล่นได้แต่ต้องพอดี มีเพื่อนมากก็สนุกดี อยู่ที่ต้องมีสมดุลก็เท่านั้นครับ (ขอบคุณพี่ใหม่ วีรณัฐ โรจนประภา แห่งบ้านอารี ที่ร่วมกันแชร์มุมคิดนี้นะครับ)