Niwat Chatawittayakul คอลัมนิส และนักธุรกิจ ปัจจุบันทำธุรกิจด้านวางแผนกลยุทธ์การตลาดและโฆษณาดิจิทัล อีกฝั่งสวมหมวกบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีโดย มุ่งความสนใจไปที่ BigData Blockchain และ Digital Transformation

เหตุผล ที่อุปกรณ์ไฮเทคสวมใส่ พกพา น่ากลัวกว่าที่คิด

4 sec read

เทคโนโลยีช่วยให้ชีวิตสบายขึ้น เป็นความจริงครับ แต่อีกด้านเทคโนโลยีทำลายชีวิตก็เป็นจริงเช่นกัน เป็นเรื่องธรรมดาที่ของทุกอย่างมีสองด้านเสมอ ทั้งบวกและลบ ผมเคยกล่าวถึงหลายครั้ง ถึงแนวโน้มที่น่าสนใจของมือถือสมาร์ทโฟน จำนวนเครื่องที่ขายได้ในแต่ละปี จำนวนเวลาใช้งานเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้น จนคิดว่าสมาร์ทโฟนน่าจะได้รับตำแหน่งบุคคลสำคัญแห่งมวลมนุษยชาติ ที่ใครต่างก็ให้ความสนใจและใส่ใจมากกว่าคนในครอบครัวซะอีก ผลกระทบระยะใกล้ๆ เกิดขึ้นให้เห็นเร็วกว่าที่คิดเกิด สังคมก้มหน้า ที่กำลังแพร่ระบาดในชีวิตคนเมือง หลายคนเกิดอาการปวดต้นคอมากขึ้น จากการก้มหน้าก้มตาจิ้มมือถือ และใช้งานเทคโนโลยีอุปกรณ์พกพามากเกินความจำเป็น

ผลกระทบจากมือถือเป็นเรื่องใกล้ตัวทุกๆ คน แต่ถ้ามองว่า การใช้งานเยอะส่งผลกระทบกับเราแค่เรื่องสุขภาพนั่น เป็นแค่ส่วนเล็กๆ เท่านั้น จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายแง่มุมที่น่ากังวลกว่า โดยเฉพาะเรื่องของ ความเป็นส่วนตัว

Big-Brother-Nineteen-Eighty-Four

เคยมีสารคดีเรื่อง Big Brother ซึ่งชื่อก็น่าจะมาจากชื่อรายการ Reality ชื่อดังนั่นแหละครับ สารคดีเจาะลึกว่าด้วยเรื่องของประเทศอเมริกา ที่ประชากรทั้งประเทศถูกจับตามองแบบลับๆ จากรัฐบาล โดยที่เราไม่รู้ตัวมาก่อน โดยการจับตามองผ่านระบบเครื่องมือสื่อสารและระบบกล้องวงจรปิดที่มีอยู่ทั่วประเทศ แม้กระทั่งการแสดงตัวตนบนโลกอินเทอร์เน็ตทั้งหมด เหตุผลก็เพื่อที่การควบคุมประชากรช่วยให้บริหารประเทศได้ดีขึ้น นี่ดูเหมือนในหนังไซไฟล้ำๆ หลายเรื่อง แต่นี่มันเกิดขึ้นในชีวิตจริงแล้ว

มือถือ สมาร์ทโฟนทำให้เราใช้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น แต่แลกกับความเป็นส่วนตัวที่น้อยลง ไม่เพียงแค่เวลาที่ทำให้เรามองสิ่งรอบข้างน้อยลง ชีวิตส่วนตัวที่กลายเป็นสาธารณะมากขึ้น ซึ่งเราเองก็เป็นคนยินยอมให้ข้อมูลเหล่านั้นส่งออกไปยังสังคมออนไลน์ แสดงความเป็นตัวตน กิน ดื่ม เที่ยว แสดงความคิด การใช้ชีวิต ไลฟ์สไตล์ เปิดเผยจนทำให้คนอื่นสามารถวิเคราะห์ความเป็นตัวตนของคุณได้มากกว่าตัวคุณเองจะรู้ซะอีก เรากำลังขายชีวิตให้เทคโนโลยี

Big-Data-Blog-Image

เทรนด์เทคโนโลยีที่เรียกว่า Big Data เป็นเรื่องที่บริษัทชั้นนำด้านไอทีขนาดใหญ่ทั่วโลกต่างก็พยายามสร้างเครื่องมือในการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่มหาศาล เพื่อวัตถุประสงค์หลายอย่าง แม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกา บารัก โอบามา ยังกล่าวถึงเรื่องการนำ Big Data นี้มาใช้ในราชการ คำถามคือ “กลัวมั้ย ถ้ามีใครรูจักเรามากกว่าพ่อ แม่หรือแฟนเรา โดยที่ไม่เคยเจอหน้ากันมาก่อน” ถ้าคำตอบคือใช่ จงฟังความน่ากลัวเหล่านี้ และเริ่มใส่ใช้ชีวิตออนไลน์มากขึ้น

บ่อนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในลาสเวกัส ใช้เครื่องมือไฮเทคติดตามนักพนันเพื่อมาดูว่า ธุรกิจจะต้องออกแบบอย่างไรเพื่อให้นักพนันเหล่านั้นใช้เวลามากขึ้นและลงเงินเดิมพันให้สูงขึ้นโดยเก็บข้อมูลทุกอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อคุณเข้าไปยังบ่อน นำมาวิเคระห์ลูกค้าแต่ละรายเพื่อดูเทคนิควิถีการเล่นพนัน ความเสื่องที่กล้าพนันและเทคนิคการเล่น ถ้าบ่อนรู้ขนาดนั้นเราจะชนะพนันหรือไม่ น่าคิด

บริษัท Amazon เว็บไซต์ขายหนังสือและสินค้าออนไลน์ชื่อดัง ได้นำข้อมูลประวัติการใช้งานของลูกค้าทุกคน ข้อมูลการซื้อสินค้า หรือแม้แต่กระทั่งการแสดงออกต่างๆ ในเว็บไซต์ เพื่อวิเคราะห์ว่าเราจะซื้อสินค้าอะไรในอนาคตและเมื่อไหร่ มีกรณีศึกษาหนึ่งที่ Amazon ได้ทราบประวัติการซื้อเครื่องเล่นเกมของชายคนหนึ่งที่ต้องซื้อเครื่องใหม่ทุกครั้งที่มีเครื่องรุ่นล่าสุดวางตลาด Amazon ทำการวางแผนการซื้อโดยการส่งสินค้าที่คาดว่าจะเกิดการซื้อขายเกิดขึ้นไปยังโกดังที่ใกล้บ้านชายคนนั้นให้มากที่สุด และเมื่อเกิดการสั่งซื้อออนไลน์ก็จะส่งถึงมือภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง การส่งสินค้าเร็วกว่าคู่แข่งหลายเท่านักเพราะ Amazon สามารถล่วงรู้อนาคตได้

ใกล้ตัวไปกว่านั้น Google บริษัทที่เรารู้จักเป็นอย่างดีกำลังโดนฟ้องร้องอย่างหนักเรื่องการแสดงโฆษณาในบริการ อีเมลฟรี อย่าง Gmail ที่ได้แสดงโฆษณาภายในหน้าอีเมล ซึ่งโฆษณานั้นจะเกี่ยวข้องกับเนื้อความในจดหมาย นั่นหมายถึงเรากำลังมีคนไม่ประสงค์ออกนามกำลังช่วยอ่านอีเมลระหว่างเรากับคู่สนทนา และเราก็ไม่รู้ว่า Line Whatsapp Wechat นั้น เก็บข้อมูลการสนทนาของเราไว้แค่ไหนกัน ขณะที่กำลังแชทอย่างสนุกสนานกับเพื่อน มีคนกำลังเฝ้ามองการสื่อสารของเราตลอดเวลา

ยังมีอีกหลากหลายบริษัทชั้นนำระดับโลกที่มีการเก็บข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างเราๆ แบบลับๆ โดยที่ไม่เปิดเผยข้อมูลเหล่านั้นเก็บไว้อย่างแน่นหนา โดยหวังว่าข้อมูลเหล่านั้นจะทำให้สร้างรายได้อย่างมหาศาลในอนาคตหากสามารถวิเคราะห์ความต้องการที่แท้จริงที่เกิดขึ้นได้ ทั้งที่เจ้าตัวผู้ให้ข้อมูลเองยังไม่รู้ตัว ประเทศที่ก้าวล้ำด้านเทคโนโลยีเลยหวังว่า การเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาลนั้นมาวิเคราะห์จะสร้างความได้เปรียบในหลายๆ ด้านมากกว่าประเทศที่กำลังพัฒนา ใครทราบข้อมูลเชิงลึกมากกว่าจะกลายเป็นพี่ใหญ่ Big Brother ไปในที่สุด

อุปกรณ์พกพาจึงเหมือนเป็นเครื่องสะกดรอยตามที่เรายินดีสวมใส่พกพา ยิ่ง ณ วันนี้อุปกรณ์สวมใส่ไฮเทคอย่างสายรัดข้อมือ นาฬิกาไฮเทค สามารถนับก้าวการเดิน แคลอรี อัตราการเต้นของหัวใจ กิจวัตรประจำวัน เพื่อประมวลผลสุขภาพของผู้ใช้ นั่นยิ่งทำให้ข้อมูลเหล่านั้นสามารถรู้ได้เลยว่า อนาคตอันใกล้เรามีโอกาสเจ็บป่วยเป็นโรคอะไร แล้วถ้าข้อมูลเหล่านี้ตกอยู่ในมือของผู้ผลิตยาและอุตสาหกรรม ธุรกิจสุขภาพล่ะ

นี่น่าจะทำให้หลายคนฉุกคิดในการใช้งานมือถือ มือถือสมาร์ทโฟน อุปกรณ์สวมใส่ ซึ่งเป็นช่องทางที่อนุญาตให้บริษัทชั้นนำต่างๆ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของเราได้ คุณอาจจะคิดว่าปิดการให้ข้อมูลเหล่านั้นแล้วเรื่องที่บอกอาจไม่ได้น่ากลัวอย่างนั้น แต่อยากให้ลองดู Application จำนวนมากที่อยู่ในเครื่องเมื่อครั้งเราได้ลงแอพใช้งานครั้งแรก มันได้ข้ออนุญาตเข้าถึงข้อมูลเรา รวมถึง Location ที่อยู่ปัจจุบัน ไปแล้ว คิดหรือว่าแอพที่อยู่ในมือตอนนี้หลายตัวไม่รู้หรือว่าตอนนี้คุณทำอะไรอยู่ที่ไหน

เราถูกจับตาอยู่ แม้กระทั่งตอนคุณอ่านบทความนี้…