Niwat Chatawittayakul คอลัมนิส และนักธุรกิจ ปัจจุบันทำธุรกิจด้านวางแผนกลยุทธ์การตลาดและโฆษณาดิจิทัล อีกฝั่งสวมหมวกบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีโดย มุ่งความสนใจไปที่ BigData Blockchain และ Digital Transformation

กรณีศึกษา ที่ผู้ปกครองควรระวัง ลูกทำผิดบน Facebook โทษถึงผู้ปกครอง

3 sec read

ฉากหนึ่งในซีรีส์วัยรุ่นชื่อดัง ฮอร์โมน ซีซั่น 2 ตอน “สไปรท์” ในเนื้อเรื่องเล่าถึงน้องสนิทร่วมโรงเรียน “ออย” ปลอมตัวเป็นตัวเอง โดยการสร้าง account เฟซบุ๊กอ้างเป็น “สไปรท์” ด้วยการใช้รูปภาพ ชื่อ แอบอ้างอย่างแนบเนียน นำ Facebook นั้นไปพูดคุยกับเพื่อนชายที่หลงใหลในความน่ารักของ “สไปรท์” โดยที่ไม่รู้ว่าจริงๆ นั้นคือบุคคลอื่นที่แอบอ้างชื่อ โดยใช้ความสามารถ Social Media ในการเข้าถึงบุคคลอื่นสร้างความเดือดร้อนให้แก่ “สไปรท์” ตัวจริงในที่สุด

เรื่องราวนี้เกิดขึ้นจริงแล้วครับในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเด็กชายคนหนึ่งสร้าง Facebook ปลอมเป็นเด็กผู้หญิงร่วมชั้นเรียน โดยใช้ Facebook แอบอ้างโพสต์ข้อความลามก เหยียดสีผิว หยาบคาย ที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ใช้โปรแกรมแต่งภาพสร้างทำให้เจ้าตัวดูน่าเกลียดกว่าความเป็นจริง นำ Facebook ไปสนทนาต่อว่า ทำให้เจ้าตัวกลายเป็นที่น่ารังเกียจของเพื่อนร่วมชั้น และเพื่อนในโรงเรียน เรื่องทราบไปถึงผู้ใหญ่ทางโรงเรียนก็ได้ลงโทษ โดยการพักการเรียนเด็กชายผู้ไม่หวังดีคนนี้เป็นเวลาสองวัน และแจ้งไปยังผู้ปกครองของเด็กชาย ซึ่งก็มีการลงโทษกันในครอบครัวของเด็กชายโดยการกักบริเวณเป็นเวลา 7 วัน แต่ Facebook ปลอมยังคงเปิดใช้งานตามปกติ ไม่มีการแจ้งปิดแต่อย่างใด ผ่านไปถึง 11 เดือน จนผู้เสียหายของเด็กหญิงเองต้องร้องไปยังผู้ให้บริการ Facebook ปิดหน้าการใช้งานนั้นเสียเอง

การที่หน้า Facebook ปลอมสร้างความเสียหายถูกทิ้งไว้โดยไม่มีการดำเนินการลบออกจากไป Facebook เป็นเวลาหลายเดือนนั้น ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นคดีความที่มาจากการกระทำของเด็กที่อาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กลายเป็นความผิดของผู้ปกครองในที่สุด ในฐานะที่ผู้ปกครองนั้นทราบถึงความผิดที่เกิดขึ้นของลูกตัวเองแต่กลับยังปล่อยให้ Facebook สร้างความเสื่อมเสียแก่เด็กหญิงมานาน เป็นการปล่อยปละละเลยของผู้ปกครองเอง

ทนายความฝั่งผู้กระทำผิดได้แจ้งถึงเหตุผลต่อศาลว่า สาเหตุที่ Facebook ยังไม่ได้ถูกระงับปิด เพราะว่าผู้ปกครองไม่มีทางที่จะสามารถควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของลูกชายได้ตลอดเวลา เลยไม่สามารถปิดหรือควบคุมการกระทำของลูกชายได้ ผู้ปกครองไม่มีความผิดแต่อย่างใด แต่ศาลมีความเห็นที่ต่างกัน ในครั้งนี้ผู้ปกครองไม่สามารถที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบในการกระทำของลูกชายได้ เนื่องจากหลังจากทราบเรื่องการกระทำผิดที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ในหน้า Facebook ที่ทำให้เสียหายเลยแม้กระทั่งการลงข้อความขอโทษแก่เด็กหญิงผู้เสียหาย

คดีความนี้ยังไม่จบ ทนายฝั่งเด็กชายยังคงยื่นต่อสู้คดีนี้ต่อในศาลฎีกา โดยอ้างว่า ยังไม่มีความผิดใดก่อนหน้านี้ที่ผู้ปกครองนั้นถูกตัดสินความผิดเนื่องจากละเลยการใช้งานคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตของบุตรภายใต้ปกครอง แต่ดูเหมือนว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่น่าสนใจและยังไม่รู้ว่าจะจบลงที่ใครผิด แต่ทางอัยการต่างเห็นชอบว่า ผู้ปกครองต้องมีส่วนในการรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะผู้ปกครองได้รับรู้ถึงเหตุการณ์นั้นแล้ว แต่ไม่ดำเนินการใดๆ ในความผิดที่ลูกชายตัวดีได้ก่อขึ้นไว้

เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาในต่างประเทศที่น่าจะมองกลับมาที่บ้านเรา ในกฎหมายมีมาตราหนึ่งที่ระบุถึงเรื่องการที่เด็กผู้เป็นผู้เยาว์กระทำความผิดนั้นแล้ว โดยที่ผู้เยาว์นั้นไม่ได้เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือวิกลจริต เด็กก็ต้องรับโทษตามสมควร และผู้ปกครองเองก็ต้องรับผิดร่วมด้วย เว้นแต่จะแสดงข้อมูลให้ศาลเห็นแล้วว่าได้ระมัดระวังตามสมควรในฐานะผู้ปกครองแล้วนั่นเอง นั่นแสดงว่า ถ้าเด็กทำผิดผู้ปกครองก็ต้องรับผิดด้วยเช่นกันทางใดทางหนึ่งตามศาลจะตัดสิน

เป็นเรื่องยุ่งยากของผู้ปกครองยุคใหม่ที่จะต้องมีการพูดคุยเฝ้าระวังการใช้งานคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตของลูกหลาน ยิ่งการใช้งานผ่านมือถือยิ่งควบคุมได้ยาก แต่ก็ต้องให้ความเข้าใจและเฝ้าระวัง เพราะอย่างในซีรีส์ฮอร์โมน ท้ายที่สุดจากการกระทำของน้องออยที่ปลอมตัวเป็นสไปรท์บนหน้า Facebook ทำให้สไปรท์ต้องมาเจ็บตัวเข้าโรงพยาบาลเกือบถึงชีวิต เราก็คงไม่อยากให้เรื่องนั้นเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัว ยิ่งทุกวันนี้ข่าวดาราวงการบันเทิงเองกำลังก่อสร้างค่านิยมใหม่ในการโพสต์ข้อความสร้างความเสียหายแก่บุคคลอื่นบนหน้า Social Media ของตน อย่างครบครัวซุปตาร์ขาร็อก การหักเหลี่ยมโหดของเพื่อนซี้นางแบบ การคอมเม้นต์ภาพจิกกัดของดารา ที่ทำให้กลายเป็นข่าวบันเทิงเม้าท์มอยทั่วไทย เราคงต้องทำความเข้าใจกับลูกหลานเราให้มากๆ ก่อนที่เขาจะเป็นคนทำซะเอง และความผิดนั้นมาถึงเราโดยไม่รู้ตัว