Niwat Chatawittayakul คอลัมนิส และนักธุรกิจ ปัจจุบันทำธุรกิจด้านวางแผนกลยุทธ์การตลาดและโฆษณาดิจิทัล อีกฝั่งสวมหมวกบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีโดย มุ่งความสนใจไปที่ BigData Blockchain และ Digital Transformation

เรื่องเล่าธุรกิจ เรียนรู้เมื่อล้มเหลว Nokia ผู้ที่จะไม่หกล้มอีก

3 sec read

โนเกีย ถือเป็นสัญลักษณ์ของความล้มเหลวของบริษัทไอทีในยุคนี้เหมือนกับอีกหลายบริษัทที่เคยเป็นเบอร์ต้นๆ ขึ้นเป็นยักษ์ใหญ่ที่ผงาดในธุรกิจ แต่เมื่อกลายเป็นยักษ์ที่ตุ๊ต๊ะเทอะทะ ก็เกิดสะดุดขาตัวเองล้มหงาย จนใครๆ ต่างก็เหยียบย่ำ นี่คือความจริงในโลกธุรกิจ

แม้จะเคยถูกจัดอันดับว่าเป็นแบรนด์ที่เคยมีมูลค่าอยู่อันดับต้นๆ ของโลกและเนื้อหอมดึงดูดนักลงทุนมากมายมาลงเงินลงทุน เพราะเชื่อในธุรกิจโทรศัพท์มือถือพกพาที่โตขยายตัวมีแนวโน้มที่ดีได้ในอนาคต ภายหลังที่ธุรกิจภายใต้ชื่อ Nokia กำลังดิ่งลงโดนมรสุมซัดเข้าโถมใหญ่ ใครๆ ก็ต่างพากันเหยียบย่ำ เป็นแบรนด์ที่ถูกจัดอันดับว่าเป็นแบรนด์ที่เคย “เจ๋งของโลก” ไปซะแล้ว เอาเป็นว่าเป็นธรรมดาของโลกคนที่แพ้ ก็ต้องดูแล(แผล)ตัวเอง โนเกีย พยายามอย่างหนักในการเอาตัวรอดในภาวะวิกฤต ลดเงิน ลดคน ลดกำลังการผลิต วางแผนตั้งรับในทางการเงิน การชำระหนี้ และการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จำเป็นต้องตัดแขนขาเพื่อเอาชีวิตรอด โนเกียจำเป็นต้อง ขายบริษัท Nokia ในส่วนมือถือ ให้แก่ไมโครซอฟท์ ด้วยมูลค่า 7.2 พันล้านเหรียญ หลังจากดีลนี้ก็มีการคาดเดาต่างๆ นานา ถึงอนาคตของโนเกียจะหันไปในทิศทางใด จะเป็นอย่างไรในอ้อมอกไมโครซอฟท์ ซึ่ง Microsoft เองก็เป็นเสือนิ่ง เงียบไม่ออกเขี้ยวเล็บมาพอสมควรในระยะหลังมานี้

การขายธุรกิจโทรศัพท์ของโนเกียเท่ากับว่าโนเกียจะไม่มีการผลิตมือถืออีกต่อไป แต่จะหันไปทำธุรกิจอื่นๆในอีกหลายส่วนธุรกิจที่ยังไม่ได้ขายและยังไม่มีใครมาซื้อไป เช่น ธุรกิจเครือข่ายการให้บริการแผนที่ และตอนนี้ชื่อโนเกียก็หายไปจากตลาดมือถือสมาร์ทโฟนที่เปลี่ยนมาใช้ชื่อ Microsoft แทน ถือเป็นการปิดตำนานชื่อมือถือที่เคยเป็นอันดับหนึ่งของโลกของจริง

ล้มแล้วต้องลุกได้ ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นธุรกิจคนจริง มีคำสบประมาทตั้งหลายครั้งว่าโนเกียจะประสบปัญหาล้มละลายแน่ๆ แต่ความเลวร้ายนั้นไม่เกิดขึ้นและผ่านมาได้ ที่ผ่านมาได้เพราะขายธุรกิจมือถือออกไปนั่นเอง ประธานบอร์ดของโนเกียคนปัจจุบัน ออกมาพูดถึงความผิดพลาดที่สุดของโนเกีย เป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายนับตั้งแต่เขาเข้ามารับตำแหน่งปี 2012 เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่ผ่านมา ความเจ็บปวดที่ต้องขายธุรกิจมือถือไปครั้งนั้นกับการจ่ายค่าตอบแทนอีกจำนวนมหาศาล เป็นการกัดฟันเพื่อรักษาชีวิตให้รอดที่เจ็บปวด แต่ถึงจุดที่ต้องยอดรับและลงมือยอมรับชะตาที่เกิดขึ้น

Nokia-1

การประชุมผู้บริหารทั้งหมดในครั้งนั้นคือการหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาใหญ่ และพูดกันภายในว่าโนเกียจะไม่เจอปัญหาความผิดพลาดแบบนี้อีกแล้วในอนาคต โนเกียปัจจุบันเสมือนเป็นบริษัทที่กำลังฟื้นตัวจากการป่วยเป็นเนื้อร้ายที่ตัดก้อนเนื้อร้ายไปเพื่อรักษาชีวิตตัวเอง ไม่รู้ไมโครซอฟท์จะรู้สึกยังไงตอนนี้ ในตลาดมือถือที่ไม่มีใครทำกำไรได้เท่าไหร่นักยกเว้น Apple

ความหวังใหม่ของโนเกียในชื่อเดิมแต่เต็มไปด้วยผู้บริหารชุดใหม่ บอร์ดชุดใหม่ วิธีการวางกลยุทธ์แบบใหม่ วิสัยทัศน์แบบใหม่ และพนักงานที่มีอยู่คือผู้คนที่ผ่านช่วงมรสุมความเลวร้ายของโนเกียและรักองค์กร พยายามที่จะพา Nokia ไปสู่อนาคตใหม่

แม้ว่าโนเกียอาจจะไม่ได้ทำกำไรสูงแบบที่เคยเป็นมาช่วงรุ่งเรือง แต่ก็ยังมีธุรกิจที่ยังทำกำไรสดใสอยู่เหมือนกันอย่าง NSN บริษัท Nokia Siemens Networks ที่ซื้อหุ้นทั้งหมดคืนจาก Siemens และเปลี่ยนเป็น Nokia Solutions and Networks เป็นธุรกิจที่ยังทำเงินให้โนเกีย

Nokia-2

ไม่รู้อนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ในสายธุรกิจเมื่อดำเนินธุรกิจผิดพลาด สิ่งที่ต้องทำคือยอมรับและแก้ไขเหมือนชีวิตเราล้มแล้วก็ต้องลุกให้เร็ว คนเก่งที่แท้จริงคือคนที่รู้จุดอ่อนของตัวเอง เพราะเมื่อเรารู้เท่ากับเราประเมินความสามารถในความเป็นจริง และสามารถพัฒนาจุดอ่อนให้แข็งขึ้นได้ในอนาคต ถ้าไม่รู้จุดอ่อนจุดอ่อนนั้นคือเนื้อร้าย ที่เป็นความเสี่ยงที่รอวันสร้างความเสียหายในอนาคต การเดินทางมีผิดและคนที่เก่งและชาญฉลาดรู้ว่านี่จะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะเดินในเส้นทางที่ผิดพลาดแบบนี้

ยุคใหม่ของโนเกีย หลังจากนี้ไปก็ต้องรอการพิสูจน์ ว่าจะลุกวิ่งกลับมาได้เร็วขนาดไหน